ยินดีที่แวะมาเยี่ยม web blog ทักษะการจัดการความรู้ (KM) ทักษะการเรียนรู้ที่สำคัญและจำเป็นสำหรับผู้เรียนศตวรรษที่ 21 วิชาประวัติศาสตร์ กลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม ขอบคุณคุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา และเพื่อนๆ ที่แนะนำให้คำปรึกษา

วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สัปดาห์ที่ 15 การวิจารณ์หรือประเมินคุณค่าข้อมูลในทางประวัติศาสตร์

6. การวิจารณ์หรือประเมินคุณค่าข้อมูลในทางประวัติศาสตร์

        เนื่องจากการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์เป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงของสิ่งต่าง ๆ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาแล้วในอดีต จึงมักต้องใช้ข้อมูลซึ่งมาจากรายงานของผู้ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์หรือพยานในเหตุการณ์ ดังนั้นการวิเคราะห์ข้อมูลจึงจำเป็นจะต้องใช้ความรอบคอบและระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้มาซึ่งความจริงในสิ่งนั้น ในการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์มีการวิจารณ์หรือประเมินคุณค่าข้อมูลอยู่ 2 แบบคือ

        6.1 การวิจารณ์หรือการประเมินภายนอก (External criticism or External appraisal) เป็นการประเมินและพิสูจน์ว่าข้อมูลที่เก็บนั้นเป็นอันเดียวกันกับข้อมูลที่ผู้วิจัยมุ่งจะเก็บหรือไม่ หรือเป็นการพิจารณาว่า “ข้อมูลนั้นเป็นของแท้หรือมีความเป็นจริงหรือไม่” นั่นเอง เช่น เอกสารหรือซากโบราณ วัตถุนั้นเป็นของจริงหรือของปลอมหรือจำลองขึ้นมา จำเป็นจะต้องมี การตรวจสอบและพิสูจน์แหล่งที่มาของข้อมูล เช่น อาจใช้การตรวจสอบลายเซ็น ลายมือ ต้นฉบับ การสะกดคำ การใช้ภาษา สำนวนโวหารในการเขียน ตลอดจนค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้องในสมัยเดียวกัน เป็นต้น
ในการวิจารณ์ หรือการประเมินผลภายนอกนี้ อาจพิจารณาได้จาก 3 ประเด็นนี้คือ (กาญจนา มณีแสง. หน้า 103 - 104)
            1) สภาพสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลทำให้เกิดหลักฐานชิ้นนั้น
            2) ความรู้ทั่วไป เช่น สภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของข้อมูลถูกต้องตรงกับความรู้ของเราหรือไม่
            3) มีการดัดแปลง ปลอมแปลง ประดิษฐ์เพิ่มเติมให้บิดเบือนไปจากความเป็นจริงหรือไม่
        ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้พยายามใช้วิธีการทดสอบทางฟิสิกส์และเคมี ในการตรวจสอบอายุของโครงกระดูก กระดาษ ใบลาน หมึก แผ่นหนัง หนังสือ ก้อนหิน โลหะ เสื้อผ้า ฯลฯ ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าสามารถตรวจสอบได้ เช่น การตรวจสอบหาอายุของโครงกระดูกมนุษย์โบราณโดยใช้ C14 ที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น อันจะช่วยให้เราตัดสินได้ว่าข้อมูลนั้นเป็นของแท้หรือมีความเป็นจริงเพียงใดได้
        6.2 การวิจารณ์หรือการประเมินผลภายใน (Internal criticism or Internal appraisal) เป็นการตรวจสอบข้อมูลที่ลึกซึ้งลงไปอีก เพื่อทราบว่า ข้อมูลนั้นมีคุณภาพที่เที่ยงตรงเชื่อถือได้หรือไม่ มีคุณค่าเพียงใด โดยพิจารณาถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลนั้นดังนี้
            1) พิจารณาผู้เขียนว่าเป็นบุคคลที่เชื่อถือได้หรือไม่ มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ หรือรู้เห็นในเรื่องนั้น ๆ จริงหรือไม่เพียงใด
            2) พิจารณาว่าผู้เขียนเขียนในขณะที่มีสภาพจิตใจที่เป็นปกติหรือไม่ เช่น ไม่ได้อยู่ในสภาวะที่ถูกบีบบังคับให้เขียน หรือมีความกดดันทางอารมณ์
            3) พิจารณาว่าผู้เขียนบันทึกหลังจากเกิดเหตุการณ์แล้วนานเท่าใด พอจะเชื่อถือได้หรือไม่ว่ายังจำเหตุการณ์นั้นได้
            4) พิจารณาว่าเอกสารนั้นมีบรรณานุกรมที่แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนได้ค้นคว้ามามากน้อยเพียงใด
            5) พิจารณาว่าข้อความที่เขียนนั้นมีอคติเกี่ยวกับศาสนา เชื้อชาติ ลัทธิการเมือง ผลประโยชน์ส่วนตัว หรือสภาวะทางเศรษฐกิจหรือไม่
            6) พิจารณาว่าภาษาหรือสำนวนที่ใช้หรือเรื่องราวที่รายงานนั้นอ้างอิงมาจากบุคคลอื่น ๆ หรือเป็นคำพูดของผู้เขียนเอง
            7) พิจารณาว่าการเขียนนั้นมีแรงจูงใจในการบิดเบือนความจริงหรือไม่ เช่น การได้รับแหล่งเงินสนับสนุน เป็นต้น
            8) พิจารณาว่าเอกสารนั้นพอเพียงทั้งทางด้านคุณภาพและปริมาณที่จะนำมาใช้ในการวิจัยหรือไม่
            9) พิจารณาการจัดเรียงหัวข้อว่าวกไปวนมาหรือไม่ และในแต่ละหัวข้อผู้เขียนกล่าวถึงเรื่องนั้น ๆ ละเอียดมากน้อยเพียงใด
            10) พิจารณาว่าผู้อื่นเห็นด้วยกับผู้เขียนนั้นหรือไม่
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผู้วิจัยจะต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า เอกสารหรือข้อมูลเหล่านั้นมีความถูกต้องเที่ยงตรงและเชื่อถือได้เพียงใด แต่เมื่อได้พิสูจน์ว่า เอกสารนั้น ๆ มีความถูกต้องเที่ยงตรงแล้ว ย่อมจะเห็นหลักฐานที่เชื่อถือได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น